ปก พล นิกร กิมหงวน ประมวลสาส์น

มาไล่เรียงกันว่า ปกสามเกลอยุคประมวลสาส์น เป็นมาอย่างไรบ้าง

พ.ศ. 2502 ...ป.อินทรปาลิต ได้เริ่มต้นเขียนสามเกลอตอนใหม่เอี่ยมอีกครั้งให้กับสำนักพิมพ์ประมวลสาส์น ถือว่าเป็นการเขียนนิยายสามเกลอแบบชุดใหญ่จัดหนัก เพราะมีจำนวนทั้งหมดราวๆ 50 ตอน

ผู้ที่วาดปกก็จะมี สมบุญ สว่างจันทร์ ใช้ลายเซ็นต์บนปกว่า "เทพา" ...จากข้อมูลของพี่วรวุฒิได้บอกไว้ว่า เทพา เป็นนักวาดนิยายภาพให้กับสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ด้วย อาทิ ดาบเจ็ดสี ...ปกที่ เทพา วาดให้กับประมวลสาส์นก็มี สมบัติปีศาจ, ริโออาโก, สาวนักสู้ และ นักดาบสามเกลอ

อีกท่านก็จะเป็น สัมพันธ์ ก้องสมุทร ...อันนี้มีหลายนามแฝง เช่น พิรุณ ระย้า จั๊กจั่น และ วรวสี (ข้อมูลจากพี่วรวุฒิ)

นอกจากนี้ยังมี เปี๊ยก โปสเตอร์ อีกด้วย ... จากข้อมูลในหนังสือของคุณหมอพีระพงศ์บอกไว้ว่า เปี๊ยก โปสเตอร์ วาดปกตอน "เสือปะทะสิงห์" แถมยังวาดด้วยสีน้ำมันอีกด้วย แต่ "ริโออาโก" ที่เป็นตอนแรก น่าจะวาดโดย เทพา เพราะสังเกตลายเส้นหรือสไตล์จะค่อนข้างต่างกัน (ข้อมูลจากชมรมนักอ่านสามเกลอแจ้งมาว่า ริโออากา + เสือปะทะสิงห์ ... ลุงป. ลอกมาจากหนังฝรั่งเรื่อง "ริโอบราโว่" แต่ตั้งชื่อเรื่องให้เพี้ยนไปนิดหน่อย อิอิ 😀 )

และที่ขาดไม่ได้คือน้องชายของลุงป. ก็คือ อาภรณ์ ก็ยังมาร่วมวาดปกด้วยในตอน "ล่าพรายทะเล" ...อันนี้อาจจะมีปกฝีมือลุงอาภรณ์กับสามเกลอค่ายประมวลสาส์นรุ่นแรกอีกนะครับ แต่ผมพบเจอมาเพียงเท่านี้

ปกประมวลสาส์นรุ่นแรกก็เลยถือว่าเป็นการรวมยอดฝีมือในการวาดปก แล้วก็ยังหาชมได้ยากอีกด้วย ทุกวันนี้ผมเองก็ยังเห็นไม่ครบ ถ้านับๆ แล้ว ผมเองก็น่าจะพบเจอมาเพียง 10% ของทั้งหมด

ราคาของหนังสือในการพิมพ์ครั้งที่ 1 นั้น คือราคา 3 บาท ....อันนี้เป็นข้อสังเกตส่วนตัวคือ สามเกลอหลังจาก พ.ศ.2500 ราคาจะอยู่ที่ 3 บาท ก่อนหน้านั้นจะอยู่แถวๆ 2 บาท หรือ 2.50 บาท

อีกราวๆ 10 ปีต่อมา หลังจากลุงป. จากโลกนี้ไป หลายสำนักพิมพ์ก็งัดสามเกลอมาพิมพ์กันอีกรอบ เช่น พ.ศ. 2512 ...สนพ.ผดุงศึกษา ก็นำสามเกลอรุ่นแรกของเพลินจิตต์มาพิมพ์ใหม่แบบจริงจัง โดยมี อาภรณ์ วาดปกเป็นแนวลายเส้นการ์ตูน ซึ่งเป็นปกสามเกลอที่เราคุ้นเคยกันดีที่สุดนั่นละครับ ...และ สนพ. ประมวลสาส์น ก็ไม่น้อยหน้า ตอน พ.ศ.2513-2514 ได้งัดเอาสามเกลอ พ.ศ.2502 เอามาพิมพ์ใหม่ คราวนี้ก็ให้ กุลน้อย (ลูกชายของ พ.บางพลี) รับหน้าที่วาดปก โดยวาดเป็นลายเส้นการ์ตูนเช่นเดียวกับของผดุงศึกษานั่นเอง เรียกได้ว่า เป็นการดวลกันในแนวการวาดปกแบบการ์ตูนระหว่างอาภรณ์และกุลน้อย

มีข้อสังเกตว่า ปกของอาภรณ์และกุลน้อยในตอนนั้น เป็นการ์ตูนลายเส้นเหมือนกันซะด้วย แต่อันนี้ผมไปสืบทราบจากพี่วรวุฒิมาว่า ตอนนั้นกุลน้อยก็วาดปกอื่นให้ประมวลสาส์นเป็นแบบการ์ตูนลายเส้นอยู่แล้ว ดังนั้นผมจึงมโนว่า งานนี้ไม่มีการลอกการบ้านกันแต่ประการใด เพียงแต่สองศิลปินที่มาดวลกันนี้ ปรับสไตล์เป็นการ์ตูนลายเส้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

แต่ประมวลสาส์น พ.ศ.2513 นั้น ยังมีนักวาดท่านอื่นมาแจมด้วย เช่นปกตอน "สี่แหลก" ที่พิมพ์ในเดือน มิถุนายน 2513 นั้น น่าจะวาดปกโดย สัมพันธ์ ก้องสมุทร คือเป็นปกที่วาดแบบภาพเหมือนจริง ไม่ใช้การ์ตูนลายเส้น

ที่ประหลาดอีกนิดคือ ปก "สี่แหลก" รุ่นนี้ ตรงสันปกดันเขียนชื่อตอนว่า "มือปืนผยอง" (ฮา)

ถ้าจะให้ประหลาดอีกหน่อยก็คือ ครึ่งเล่มหลัง จะเป็นตอน ปราบแชมป์เปี้ยนโลก (ทีมฟุตบอลเปรูมาแข่งกับทีมสามเกลอ) ซึ่งในการพิมพ์ในครั้งต่อมา พ.ศ. 2522 ตอน ปราบแชมป์เปี้ยนโลก ถูกแยกออกมาเป็นเล่มเดี่ยวซะงั้น และวาดปกโดย กุลน้อย ....อันนี้พอดีผมเคยเห็นหนังสือของพี่แป๊ะ แกประมูลได้มา เลยจำได้ อิอิ....

ข้อดีของสามเกลอประมวลสาส์น รุ่น พ.ศ.2513-2514 คือ หน้าในจะบอกไว้ว่าพิมพ์ปีไหน บางเล่มถึงกับเขียนไว้ด้วยว่าเดือนอะไร เช่น สี่แหลก พิมพ์ในเดือน มิถุนายน 2513 หรือ ยอดกะเทย พิมพ์ในเดือน ตุลาคม 2514 ...อันนี้จะคล้ายๆ กับสามเกลอเพลินจิตต์ที่ระบุเดือนและปีที่พิมพ์อย่างชัดเจน แต่ของเพลินจิตต์จะเหนือสุดแหละ เพราะบอกวันที่พิมพ์ด้วย ไม่มีชัดเจนกว่านี้อีกแล้ว อิอิ ....ส่วนจุดเด่นอีกอย่างของรุ่นนี้คือ จะมี 1 เล่ม 2 เรื่อง เช่น ตอน ริโออาโก ที่ต้องต่อด้วย เสือปะทะสิงห์ ก็จะมี 2 ตอนนี้ จบในเล่มเดียวไปเลย แต่ในการพิมพ์ครั้งแรกหรือครั้งอื่นๆ จะมีการแยกเล่มออกไป

ราคาในการพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้ ขยับมาเป็น 5 บาท ก็ราคาเดียวกับสามเกลอของผดุงศึกษานั่นแหละ ...ถึงบอกว่า ผดุงศึกษา กับ ประมวลสาส์น เขาได้ดวลกันไงครับ เพราะสองค่ายนี้เอาสามเกลอเก่ามาพิมพ์ใหม่ในราคาเท่ากัน แถมยังวาดปกเป็นการ์ตูนให้เหมือนกันซะด้วย

พ.ศ.2522 สามเกลอประมวลสาส์นปกกุลน้อยก็ออกมาอีกรอบ คราวนี้ราคาขยับไปอีกเป็น 10 บาท ....ตอนนั้นแกงถุงละ 5 บาท ผมจำได้แม่น เพราะแม่ให้ธนบัตรใบละ 5 บาท แล้วบอกว่าไปซื้อแกงมาให้ถุงหนึ่ง

สรุปว่า ประมวลสาส์น พิมพ์สามเกลอออกมาด้วยระยะห่างราวๆ 10 ปี ก็คือ พ.ศ.2502 ...2513...2522 ...

จากนั้นก็เข้าสู่โหมดเปลี่ยนชื่อสำนักพิมพ์ กลายมาเป็น คิงค์บุ๊ค (2524) และ บัวหลวง (น่าจะราวๆ 2529) ในช่วงหลังนี่ จะใช้ชื่อชุดว่า "วัยจี้เส้น" 

ปัจจุบัน สนพ.แสงดาวก็นำสามเกลอประมวลสาส์นมาพิมพ์ใหม่เป็นบางตอนด้วย และได้ กุลน้อย กลับมาวาดปกให้เหมือนเดิม แต่คราวนี้วาดในแนวเหมือนจริง ไม่ได้เป็นเส้นการ์ตูนแล้ว

 

ขอเสริมเกี่ยวกับ "เทพา" อีกเล็กน้อย .... ก็คือ เทพา ยังใช้นามแฝงว่า แววเนตร ...ได้นำสามเกลอมาเขียนเป็นการ์ตูนให้กับ สนพ.บรรณาคาร 3 เรื่อง คือตอน  โลกแตก, ทาร์ซานกลัวเสือ และ ผีเปรต จัดจำหน่ายในราคา 2.50 บาท เดาจากราคาแล้ว น่าจะก่อน พ.ศ.2500 (ข้อมูลโดย พี่วง)

 

😀 😀 😀

 

ปกนี้หาชมยากสุดๆ ...น่าจะวาดโดย เทพา เจ้าของหนังสือคือ พี่วง

ตอนต่อของ ริโออาโก ... วาดโดย เปี๊ยก โปสเตอร์ ...เจ้าของหนังสือก็พี่วงอีกแหละ

ทาร์ซานกลัวเสือ และ ผีเปรต ...วาดโดย แววเนตร หรือ เทพา ...เครดิตปกโดยคุณ Sutipoj Maxkie Wongsrisai‎

สาวนักสู้ ปกที่วาดโดย เทพา ...สนพ.ประมวลสาส์น ประมาณ พ.ศ.2502 เครดิตปกโดยพี่วง

สมบัติปีศาจ-สมบุญ สว่างจันทร์-เทพา-2502-ประมวลสาส์น-เครดิตปกโดย พี่วง

Posted in พล นิกร กิมหงวน.