หลังจากนิตยสาร “ดิฉัน” ซึ่งตีพิมพ์ “เผชิญหน้า พล นิกร กิมหงวน” เมื่อปี ๒๕๔๔ วางตลาดไม่ถึงสัปดาห์ เสียงตอบรับเรื่องสั้นนี้ก็มาถึงผมทั้งทางอีเมล ทางแฟกซ์ และทางโทรศัพท์
ตอนแรกผมไม่ทราบความฮือฮานี้ จนกระทั่งพนักงานหญิงในกองบรรณาธิการ “ดิฉัน” โทรมาหา บอกมีแฟนๆ สามเกลอหลายคนโทรไปที่สำนักพิมพ์ ต้องการทราบพิกัดของผม เพื่อขอติดต่อพูดคุยเรื่อง “เผชิญหน้า พล นิกร กิมหงวน” ที่ลงใน “ดิฉัน” บ.ก. จึงให้ถามว่าผมยินดีเปิดเผยหรือไม่
ผมตอบว่ายินดีให้บอกตำแหน่งแห่งที่ของผมตามที่ระบุไว้ท้ายต้นฉบับได้เลย (เบอร์โทร เบอร์แฟกซ์ อีเมลของออฟฟิศที่ผมทำงานอยู่ตอนนั้น รวมทั้งอีเมลส่วนตัว) ผู้อ่านท่านใดสะดวกแบบไหนอย่างไร จะได้เลือกตามอัธยาศัยความพอใจของเขา
สุดท้ายสาวสวยจากกอง บ.ก. “ดิฉัน” ที่โทรมา (ผมเดาเอานะว่าสวย เพราะเสียงน่ารักยังกะเสียงนกไนติงเกลตอนบินไปกินน้ำผึ้งเดือนห้า) กล่าวว่า บ.ก. ให้เรียนคุณปริญญาว่าตั้งแต่ บ.ก. รับผิดชอบนิตยสาร “ดิฉัน” มาหลายปี ไม่เคยมีผู้อ่านโทรถามถึงนักเขียนเลย มีคุณปริญญาเป็นคนแรกที่เขียนเรื่อง “เผชิญหน้า พล นิกร กิมหงวน” แล้วผู้อ่านหลายรายโทรมาเพราะต้องการติดต่อด้วย
๒-๓ วันต่อมามีทั้งอีเมล แฟกซ์ โทรศัพท์ถึงผม จากการอ่านอีเมลและแฟกซ์ รวมทั้งพูดคุยทางโทรศัพท์ ผมจับประเด็นหลักได้ ๒ ประเด็นที่ผู้อ่าน “เผชิญหน้า พล นิกร กิมหงวน” ต้องการทราบอย่างยิ่ง คือ ๑. สามเกลอมีตัวตนจริงๆ หรือ??? ๒. อาคาร “สี่สหาย” และบ้าน “พัชราภรณ์” อยู่ตรงไหนในบริเวณที่เรียกว่าทองหล่อ???
หลายท่านบอกอยากไปดูของจริงให้เห็นด้วยตาตนเอง เพราะอ่านจากหนังสือแล้วก็คิดว่าน่าจะมีอยู่จริง
บางท่านบอกเคยผ่านไปแถวทองหล่อหลายครั้ง แต่ไม่ได้สังเกตตึกรามบ้านช่องที่ดารดาษทั้งสองฟากถนน ว่ามีอาคาร “สี่สหาย” อยู่ด้วยหรือไม่ พอรู้ว่ามีจริงก็เลยอยากไปดู
บางท่านบอกกำลังจะรวบรวมเงินกับเพื่อนๆ เช่ารถตู้ไปตระเวนดูอาคาร “สี่สหาย” และบ้าน “พัชราภรณ์” ของสามเกลอ
มีโทรสายหนึ่งจาก คุณสัญญา คุณากร (ขออนุญาตเอ่ยนาม) พิธีกรชื่อดัง (แกชื่อสัญญาหรือดู๋นะครับ ไม่ใช่ชื่อว่า “ดัง”) แต่คุณสัญญาไม่ได้โทรมาด้วยตัวเอง ให้ลูกน้องในบริษัทโทรมา ถามผมแบบตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมว่า “พี่ดู๋ให้ผมเรียนถามคุณปริญญาว่า อาคาร “สี่สหาย” ที่คุณปริญญาเขียนถึง อยู่ตรงไหน เพราะบ้านพี่ดู๋อยู่แถวนั้น พี่ดู๋ไม่เคยรู้หรือเคยเห็นมาก่อนว่ามีอาคารดังกล่าวอยู่ด้วย”
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
ผมก็ตอบแต่ละท่านแต่ละรายไปตามประสาคนมากอารมณ์ขันและขี้เล่น (แต่ไม่เคยเล่นขี้ ยกเว้นสมัยเป็นเด็กทารก อิอิอิ) ว่าท่านที่อยากไปดูอาคาร “สี่สหาย” ก็ดี บ้าน “พัชราภรณ์” ก็ดี…นั้น ต้องขึ้นอยู่กับโชคดวงของท่านด้วย ถ้าไปแล้วไม่เห็นก็หมายความว่าโชคไม่อำนวย ดวงไม่สมพงษ์ พงษ์มิตร จังหวะไม่เป็นใจ โอกาสไม่เข้าข้าง
เพราะขณะที่ท่านไปถึงอาจเป็นช่วงเวลาที่ ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ ได้ใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ประดิษฐ์ขึ้น ทำให้อาคาร “สี่สหาย” และบ้าน “พัชราภรณ์” อยู่ในโหมดพรางตัว (Invisible Mode) ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาจึงไม่รู้ว่ามีอาคารทั้งสองในพื้นที่นั้นๆ
ส่วนรายหนึ่งที่ส่งแฟกซ์ ดูท่าเขาเชื่อเรื่องนี้จริงจังมาก เนื่องจากพูดถึงเนื้อเรื่องที่ผมเขียนไว้ใน “เผชิญหน้า พล นิกร กิมหงวน” เขาแนะนำว่าควรติดต่อคุณวิทวัส (เจ้าของรายการ “ตีสิบ” ทางไทยทีวีสี ช่อง ๓) เชิญคณะพรรคสี่สหายไปออกรายการช่วงสัมภาษณ์ ก่อนที่ทุกคนจะเสียชีวิตเพราะอายุอานามก็มากแล้ว เพื่อให้คนดูรู้ว่าสามเกลอมีอยู่จริงๆ ไม่ใช่มีเพียงในหัสนิยายของ ป. อินทรปาลิต
ผมอ่านแฟกซ์ของแฟนสามเกลอรายนี้แล้ว ถึงกับเผลอตัวหัวเราะออกมาทันที ไม่ใช่เยาะเย้ยหรือหมิ่นแคลนอะไรเขาหรอกครับ แต่หัวเราะเพราะถูกใจที่แฟนสามเกลอรายนี้จริงจังมากกับงานเขียนของผม
ในแฟกซ์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า รถยนต์ที่ใช้น้ำแทนน้ำมัน เวลานี้ต่างประเทศก็กำลังคิดค้นและวิจัยกันอยู่ ไม่น่าเชื่อว่า ดร.ดิเรก สามารถทำได้สำเร็จแล้ว อาเสี่ยกิมหงวนน่าจะออกทุนสร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ที่ช่วยให้รถใช้น้ำแทนน้ำมัน หรือขอให้รัฐสนับสนุนเป็นโครงการสำคัญเพื่อชาติ น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประเทศไทย เพราะไม่ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ
เขายังถามว่าผมได้เห็นอุปกรณ์ที่ว่านี้หรือเปล่า ว่ามีลักษณะอย่างไร ติดตั้งไว้ส่วนใดของรถ
ผมตอบกลับไปทางแฟกซ์เช่นเดียวกัน อธิบายเพื่อไขข้อข้องใจทั้งหมดให้เขาทราบ โดยถือโอกาสแกล้งเล่าว่าผมได้เห็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้รถยนต์ใช้น้ำประปาแทนน้ำมันด้วย ลักษณะเป็นกล่องเล็กๆ รวม ๕ กล่อง ติดตั้งเรียงกันในห้องเครื่องยนต์ มีสายต่อเชื่อมไปยังส่วนต่างๆ บนกล่องมีตัวอักษรกำกับไว้ให้รู้ว่ากล่องไหนคืออะไร ซึ่งผมจำได้แม่นยำเพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่ในความรู้สึกของผม นอกจากนี้ยังได้ฟังคำอธิบายจากลุงหมอ ดร.ดิเรกอีกต่างหาก
กล่องแรกมีข้อความว่า “น้ำประปา” (Tap Water 80 KmpL) หมายถึง กินน้ำประปา ๘๐ กิโลเมตรต่อหนึ่งลิตร
กล่องที่ ๒ “น้ำต้มสุก” (Boiled Water 100 KmpL) กินน้ำต้มสุก ๑๐๐ กิโลเมตรต่อหนึ่งลิตร
กล่องที่ ๓ “น้ำแร่” (Mineral Water 150 KmpL) กินน้ำแร่ ๑๕๐ กิโลเมตรต่อหนึ่งลิตร
กล่องที่ ๔ “น้ำฝน” (Rain Water 120 KmpL) กินน้ำฝน ๑๒๐ กิโลเมตรต่อหนึ่งลิตร
กล่องสุดท้าย “น้ำในรอยตีนควาย” (Water in Buffalo’s Feet 20 KmpL) กินน้ำในรอยตีนควาย ๒๐ กิโลเมตรต่อหนึ่งลิตร
โดยเฉพาะอุปกรณ์กล่องที่ ๕ สุดท้ายนี้ ดร.ดิเรกบอกว่าเพราะน้ำในรอยตีนควายไม่สะอาดนัก จึงระเหยและตกตะกอนเร็วกว่าน้ำชนิดอื่น แต่ก็พอช่วยให้รถสามารถแล่นไปได้ กล่องนี้ทำไว้แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากรณีรถเกิดน้ำหมดถังในท้องถิ่นทุรกันดาร
ผมตอบไปเช่นนี้ ผู้อ่านรายนั้นหายจ้อยไปเลย เขาอาจจะเชื่อตามที่ผมเล่าให้ฟัง และตื่นเต้นจนไม่รู้จะแฟกซ์มาถามอะไรอีก มิฉะนั้นก็คงว่าผมเพ้อเจ้อเกินความจริงจนเชื่อถือไม่ได้ (ผมว่าประการหลังมากกว่าแฮะ ๕๕๕๕)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแฟนหนังสือจะส่งอีเมล ส่งแฟกซ์ หรือโทรศัพท์มาถึงผม (รวมๆ แล้วประมาณ ๑๕ ราย อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ จำไม่ได้แล้วครับ) หลังจากผมตอบกลับทั้งเขียนและพูดคุย ด้วยการโม้เรื่อยเปื่อยในลักษณะคุยสนุกเป็นกันเอง แต่สุดท้ายก็สารภาพความจริงอย่างเป็นงานเป็นการว่า เรื่องทั้งหมดผมเขียนหรือแต่งขึ้นเอง โดยนำบทประพันธ์ของคุณปู่มาหารับประทาน ช่วยให้ตอนนั้นผมได้มีเงินติดกระเป๋าเกือบ ๓,๕๐๐ บาท (โดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไป ๕ % ) จากชีวิตปกติที่คุ้นเคยกับเศษสตางค์มาตลอด พอเจอธนบัตรก็เลยรู้สึกเป็นสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ยังไงชอบกล อิอิอิ
ขอบพระคุณแอดมินที่กรุณาค้นหาและไขว่คว้าเรื่อง “เผชิญหน้า พล นิกร กิมหงวน” มานำเสนอแก่สมาชิกเพจชมรมนักอ่านสามเกลอ เป็นการย้อนอดีตให้เพื่อนๆ สมาชิกได้อ่านกันอีกครั้ง (สำหรับสมาชิกที่เคยอ่านมาก่อนแล้ว) ส่วนสมาชิกที่ยังไม่เคยอ่านก็ได้อ่านในครั้งนี้
เสียอย่างเดียว…ยอด like ของ “เผชิญหน้า พล นิกร กิมหงวน” พุ่งกระฉูด จน “อภินิหารเต่า” ของผมที่กำลังมียอดไลค์ต่อเนื่อง กลายเป็นยอดเละ คือหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหวอีกเลย
ฮึ – แอดมินนะแอดมิน ทำมายยยถึงทำกับฉานนนด้ายยยยย ๕๕๕๕ เอิ๊กๆๆๆๆ 😀
ป.เป็ด หลานปู่ ป. 😀
(บทความนี้ขโมยมาจาก facebook ของพี่เป็ด โดยนาย ble3d อิอิ 😀 )